สวดมนต์เสริมพลังจิต

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข

ใคร ๆ ก็ต้องการที่จะมีแต่ความสุข ทั้ง ๆ ที่ก็ทราบดีว่า ความสุขนั้นก็ไม่เที่ยง เพราะเป็น นามธรรม และเป็น ธรรมะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "สัพเพธัมมา" แปลว่า  ทุกสิ่งเป็นธรรมะ "สัพเพธัมมาอนัตตา" ธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเพื่อให้จิตรู้ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว มีจิตดวงใหม่เกิดขึ้น รับอารมณ์สืบต่อแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนกับว่ายังไม่ดับ เป็นเพียงสภาวะธรรมไม่ใช่ตัวเรา สัตว์ บุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดมีความเห็นตรงตามความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ) เช่นนี้ ย่อมละคลายความยึดถือว่าเป็นตัวเราได้ และย่อมจะมีความสุข จากการละคลาย การยึดมั่นถือมั่นในสภาวะธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้

ความสุขมี ๒ ประเภท คือ ความสุขกาย (เวทนาทางกาย) และความสุขใจ (โสมนัส)    ใจหรือจิตนี้ยังต้องพึ่งพาอาศัยกายในการทำกิจต่าง ๆ  เช่นตาเห็นรูป เพราะจิตอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิด จึงทำให้เห็น(จิตเห็นหรือจักขุวิญญาณ) เกิด ใจอาศัยกายเพื่อสร้างกรรมใหม่ และเสวยวิบาก (ผลของกรรม) กรรมเก่าและวิบากกรรมใหม่ด้วย  กายและใจหรือจิตนี้ยังแยกออกจากกันไม่ได้  ตราบใดที่ยังไม่ใช่อริยบุคคลขั้น "พระอคานามี" จิตก็ยังติดข้องอยูกับ กิเลส ตัณหา และอุปาทานขันธ์ ๕ ยังติดอยู่ใน รูป  เสียง  กลิ่น รส  สัมผัสและความนึกคิดต่าง ๆ ไม่จบสิ้น

ความสุขทางกาย การมีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดี ไม่เจ็บไม่ป่วยบ่อย ถือว่าเป็น "ลาภอันประเสริฐ"  การที่จะมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีนั้น ก็จะต้องมีการบริหารร่างกายอย่างถูกต้องตามหลักอนามัยหรือที่เรียกกันว่า "สุขบัญญัติ ๑๐ ประการ " ซึ่งทุกคนก็คงจะทราบดี เพราะได้เรียนและท่องกันจนจำได้ขึ้นใจ ตั้งแต่เรียนชั้น ป.๑ แล้ว ถ้าเรานำมาปฏิบัติตามที่เราจำได้นั่นแหละ   ต้องปฏิบัติให้ได้อย่างสม่ำเสมอด้วยจึงจะเห็นผล  การที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย ก็จะต้องมี "ฉันทะ" คือความพอใจเต็มใจที่จะทำด้วย และตามด้วย "วิริยะ" คือความเพียรขยันที่จะทำจนกว่าจะประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นคุณธรรมที่สำคัญซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญยังมีอีก ก็คือ "ขันติ" แปลว่า ความอดทน ๆ ต่ออุปสรรคที่มาขัดขวางในการทำงานต่าง ๆ  "ขันติ ปะระมัง ตะโปตีติกขา" ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลส

การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาหารการกิน เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้แก่ร่างกายและจิตใจด้วย เพราะว่าร่างกายแข็งแรงดี  จิตใจก็พลอยเข้มแข็งเบิกบานร่าเริงไปด้วย ใจอยากทำอะไร กายก็ทำตามที่ใจปรารถนาได้  ถ้ากายเจ็บป่วยก็ไม่สามารถที่จะรับใช้ตามความต้องการของใจได้  ใจก็จะเกิดความขัดแย้ง (โทสะ) หรือความไม่พอใจ มีอารมณ์เศร้าหมอง  การพัฒนาสุขภาพกายให้มีประสิทธิภาพสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้เบียดเบียนได้ง่าย เป็นการป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าแก้ทีหลัง ก็จะเข้าทำนอง "วัวหายล้อมคอก" ถ้าเป็นเช่นนี้คงไม่ดีแน่

สมบูรณ์ด้วยการบริโภคผลไม้

ชาวยุโรปได้หันมาสนใจบริโภค "ผลไม้" กันเป็นส่วนใหญ่มากกว่าเมื่อก่อน เพราะว่าปัจจุบันนี้ ได้มีผลไม้นานาชนิดจากประเทศแถบอากาศร้อน   ได้ส่งเข้าไปขายอย่างมากมาย  โดยเฉพาะชาวอังกฤษได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริโภค "ผลไม้"ตัวยง เนื่องจากว่า การขนส่งลำเรียงผลไม้สดในปัจจุบันนี้  สะดวกกว่าเมื่อสมัยโรมและกรีกโบราญมาก แต่ถึงกระนั้นในยุคนั้น ก็ยังมีการปลูกองุ่นและแอปเปิ้ลกันมากในพื้นที่ดินทั่วไป  และยังมีการนำเมล็ดไม้ผลจากที่อื่นเข้ามาปลูกในยุโรป ในกาลต่อมาหลายชนิด จนถึงปัจจุบันนี้ 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการ ได้วิจัยเกี่ยวกับการบริโภคผลไม้ ได้กล่าวว่า "ถ้าบุคคลใดรับประทานผลไม้สด วันละ ๒๕๐ กรัม สามารถป้องกันการเจ็บป่วยได้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งหรือโรคชนิดอื่น ๆ จำเป็นต้องจำกัดจำนวนหรือปริมาณการบริโภคด้วย จึงจะได้ผล"  นายพาโรล ผู้เชี่ยวชาญของอเมริกาได้แนะนำว่า "รับประทานแอปเปิ้ล วันละ ๑ ผล, กล้วยวันละ ๑ ลูก, ดื่มน้ำผลไม้สดคั้นวันละ ๑ แก้ว, ผักสลัดสดและแครอทสด วันละหนึ่งจาน"  รับรองว่าท่านจะไกลจากหมอ คือไม่เจ็บไม่ป่วยบ่อย ก็ไม่ต้องการใกล้หมอ